วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช




ทรงพระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดล อันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งเหตุที่พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระโอรสองค์ที่สามในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระนามขณะนั้นว่า พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า เล็ก            พ.ศ. 2475 เมื่อเจริญพระชนมายุได้สี่พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน
พ.ศ. 2477 เมื่อพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ก็ทรงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุยเดช


พ.ศ. 2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จากโรงเรียนยิมนาส คลาซีค กังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิทยาศาสตร์





ทรงครองราชย์



วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน โดยต้องพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชได้ตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังมีพระราชกิจด้านการศึกษา จึงทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม แต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศ





พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส



วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย โปรดเกล้าให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2493 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรส กับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ที่วังสระปทุม โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน และได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ทั้งสองพระองค์มีพระราชธิดา และพระราชโอรส 4 พระองค์ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อ 5 เมษายน 2494 ณ โรงพยาบาลมองซัวนี่ โลซานน์
 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ประสูติเมื่อ 28 กรกฏคม 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมา ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ 28 กรกฏคม 2515
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลนโสภาคย์ ประสูติเมื่อ 2 เมษายน 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ภายหลังทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อ 4 กรกฏคม 2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน























ทรงผนวช



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้น พระองค์เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ผนวชนั้น ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด
 







พระราชกรณียกิจ





นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระประมุขแห่งประเทศไทย เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทย ตลอดพระชนมายุของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการจัดการและพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริมและอื่นๆ ด้วยเหตุนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการตามพระราชประสงค์จึงได้เกิดขึ้นอย่างมากมายกว่า  4,000 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เพื่อความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎรทั้งสิ้น
























ด้านพระพลานามัย 

นับตั้งแต่เดือนกันยายน  2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มประชวร อันเนื่องมาจากพระโรคไข้หวัด และพระปัปผาสะอักเสบ
วันที่ 20 กันยายน 2552 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 1 ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระปรอท (เป็นไข้) และมีพระอาการอ่อนเพลีย ตลอดจนเสวยพระกระยาหารได้น้อยลง คณะแพทย์จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อตรวจหาสาเหตุ พร้อมกับถวายการรักษาด้วยน้ำเกลือทางหลอดพระโลหิต ร่วมกับยาปฏิชีวนะ พระอาการของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์อย่างต่อเนื่องอีก 34 ฉบับ
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 36 ว่าทรงมีภาวะน้ำไขสันหลังในพระโพรงพระสมองมากกว่าปกติ คณะแพทย์กำหนดการถวายการรักษาในคืนวันนี้ ส่วนผลการตรวจต่างๆ ในระบบอื่นอยู่ในเกณฑ์ปกติ และพระอาการทั่วไปดี
วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2557 เวลา 18.15 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยรถยนต์พระที่นั่งจากวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะแพทย์ตรวจพระวรกายตามคำกราบบังคมทูลของคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา การนี้ คณะแพทย์พบว่า อุณหภูมิพระวรกาย การหายพระหทัย ความดันพระโลหิต เป็นปกติ เช่นเดียวกับพระอุระ พระปัปผาสะ (ปอด) และภาวการณ์ทำงานของพระหทัยอยู่ในเกณฑ์ปกติ

เดือนสิงหาคม กันยายน ปี พ.ศ. 2559 สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอาการพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบ หายพระทัยเร็ว มีพระเสมหะมาก มีน้ำคั่งในช่องเยื่อหุ้มพระปัปผาสะ (ปอด) ปริมาณพระบังคนเบา (ปัสสาวะ) น้อย คณะแพทย์ฯ ถวายการรักษาด้วยวิธี CRRT พระโอสถปฏิชีวนะ และเฝ้าติดตามการทำงานของพระวักกะ (ไต) อย่างใกล้ชิด
วันที่ 9 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 37 ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รายงานว่า ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 คณะแพทย์ฯ ได้ขอพระราชทานถวายใส่สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำ เพื่อเตรียมการสำหรับการฟอกพระโลหิต (Hemodialysis) ระยะยาว และเปลี่ยนสายระบายน้ำไขสันหลังในโพรงพระสมองบริเวณบั้นพระองค์ (เอว) ตั้งแต่เวลา 14 นาฬิกาถึง 16 นาฬิกา 40 นาที ปรากฏภายหลังว่า มีความดันพระโลหิตลดต่ำลงเป็นครั้งคราว คณะแพทย์ฯ จึงได้ถวายพระโอสถ และได้ใช้เครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) เพื่อทำให้ความดันพระโลหิตกลับสู่ระดับปกติ
จนกระทั่งเวลา 3 นาฬิกา วันนี้ มีพระชีพจรเร็วขึ้น ความดันพระโลหิตลดลง ผลการตรวจพระโลหิต พบว่าพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ผลการตรวจพระหทัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) พบว่ามีปริมาณพระโลหิตที่เข้าสู่พระหทัยด้านซ้ายช่องล่างลดลงมาก อันเป็นผลจากการที่มีความดันพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) สูง คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถขยายหลอดพระโลหิตในพระปัปผาสะ (ปอด) เมื่อเวลา 15 นาฬิกา ทำให้พระชีพจรเริ่มลดลง และความดันพระโลหิตดีขึ้น คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้งดพระราชกิจ
ต่อมา ในแถลงการณ์ฉบับที่ 38 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ความว่า วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ความดันพระโลหิตลดต่ำลงอีก พระชีพจรเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่า มีภาวะการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปกติ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะและแก้ไขภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด ตลอดจนถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด





วันที่ 13 ต.ค. 2559 สำนักพระราชวังออกประกาศเรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ความว่า
            “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น   
            แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดลงหนักตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี”
พสกนิกรชาวไทยที่มาปักหลักถวายพระพร ที่ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ช่วงเช้า ทันทีที่ได้ทราบข่าวจากแถลงการณ์สำนักพระราชวังเรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสววรคตแล้วนั้น บรรยากาศเป็นไปอย่างโศกเศร้า โดยหลายคนต่างสวมกอดและร้องไห้ด้วยความอาลัย นอกจากนี้ ประชาชนยังได้ร่วมกันยืนตรงและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และยืนสงบนิ่งเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน เพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย